Menu Close

การใช้สิทธิร้องทุกข์

ตามระเบียบสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น ว่าด้วยการอุทธรณ์และการร้องทุกข์ พ.ศ. 2552 มิได้กำหนดบทนิยามไว้เป็นการเฉพาะ แต่อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า “การร้องทุกข์” หมายถึง การที่บุคลากรเห็นว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือมีความคับข้องใจ เนื่องจากการกระทำหรือคำสั่งผู้บังคับบัญชา และประสงค์จะให้มีการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับตน ซึ่งการร้องทุกข์นั้น มิใช่เรื่องการร้องเรียน

ตามข้อ 20 ของระเบียบสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น ว่าด้วย การอุทธรณ์และการร้องทุกข์ พ.ศ. 2552 ประกอบด้วยข้อ 42 ของข้อบังคับมหาวิทยาลัยขอนแก่น ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม วางหลักให้ข้าราชการและพนักงานมหาวิทยาลัยทุกประเภทที่เห็นว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือมีความคับข้องใจเนื่องจากการกระทำหรือคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ยกเว้นการสั่งลงโทษหรือการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย ให้ผู้นั้นมีสิทธิร้องทุกข์ต่อ ก.อ.พ.ร. ภายใน 30 วีน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการกระทำหรือได้รับคำสั่ง อย่างไรก็ดี เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่บุคลากรทุกประเภท บุคลากรประเภทอื่นๆ สามารถร้องทุกข์มายัง ก.อ.พ.ร. ได้เช่นกัน

 

1.  เหตุแห่งการร้องทุกข์

               ตามนัยข้อ  20 – 21 ของระเบียบสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น ว่าด้วยการอุทธรณ์และการร้องทุกข์ พ.ศ. 2552 วางหลักในเรื่องเหตุแห่งการร้องทุกข์ไว้ว่า การจะร้องทุกข์ได้นั้น นอกจากจะต้องพิจารณาว่าเหตุเกิดจากการกระทำหรือคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ซึ่งก่อให้เกิดความคับข้องใจแล้ว เหตุแห่งการร้องทุกข์ดังกล่าวก็ต้องมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด ดังนี้

(1)     กรณีถูกสั่งพักราชการ สั่งพักงาน
(2)     กรณีเห็นว่าผู้บังคับบัญชาให้อำนาจหน้าที่ปฏิบัติต่อตนไม่ถูกต้อง หรือไม่ปฏิบัติต่อตนให้ถูกต้องตามกฎหมาย
(3)     กรณีมีความคับข้องใจ เนื่องจากการกระทำหรือคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่มีต่อตน กรณีใดกรณีหนึ่งต่อไปนี้
(ก)    การบริหารงานบุคคลโดยเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม เพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ สถานภาพทางกายและสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษา อบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อกฎหมาย
(ข)    ไม่มอบหมายงานให้ปฏิบัติ 
(ค)    ประวิงเวลา หรือหน่วงเหนี่ยวการดำเนินการบางเรื่องอันเป็นเหตุให้ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์อันพึงมีพึงได้ในเวลาอันสมควร

 

2. วิธีการใช้สิทธิร้องทุกข์

2.1 ระยะเวลาในการใช้สิทธิร้องทุกข์

ตามนัยข้อ  20 ของระเบียบสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น ว่าด้วยการอุทธรณ์และการร้องทุกข์ พ.ศ. 2552 วางหลักให้ผู้ร้องทุกข์ต้องทำคำร้องทุกข์เป็นหนังสือยื่นต่อผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์ภายใน 30 วันนับแต่วันทราบหรือถือว่าทราบเหตุแห่งการร้องทุกข์ ซึ่งการนับวันทราบหรือถือว่าทราบเหตุแห่งการร้องทุกข์ให้ถือปฏิบัติ ดังนี้

      (1) ในกรณีที่เหตุแห่งการร้องทุกข์เกิดจากการที่ผู้บังคับบัญชามีคำสั่งเป็นหนังสือ ให้ถือว่าวันที่ผู้มีสิทธิร้องทุกข์ลงลายมือชื่อรับทราบคำสั่งเป็นวันทราบเหตุแห่งการร้องทุกข์

      (2) ในกรณีที่ไม่มีการลงชื่อรับทราบคำสั่งตาม (1) แต่มีการแจ้งคำสั่งให้ทราบพร้อมสำเนาคำสั่ง และทำบันทึกวันเดือนปี เวลา สถานที่ที่เเจ้ง โดยลงลายมือชื่อผู้แจ้ง พร้อมทั้งพยานรู้เห็นไว้เป็นพยานหลักฐานแล้ว ให้ถือวันที่แจ้งนั้นเป็นวันทราบเหตุแห่งการร้องทุกข์

      (3) ในกรณีไม่อาจแจ้งคำสั่งตาม (2) และได้แจ้งเป็นหนังสือส่งสำเนาคำสั่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ ณ ที่อยู่ซึ่งปรากฏตามหลักฐานของทางราชการ ให้ส่งสำเนาคำสั่งไป 2 ฉบับเพื่อให้เก็บไว้เป็นหลักฐาน 1 ฉบับ และให้ลงลายมือชื่อและวันเดือนปีที่รับทราบคำสั่งแล้วส่งกลับคืนเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน 1 ฉบับ กรณีเช่นนี้เมื่อล่วงพ้น 30 วันนับแต่วันที่ปรากฏในใบตอบรับทางไปรษณีย์ลงทะเบียนว่ามีผู้รับแล้ว แม้ยังไม่ได้รับสำเนาคำสั่งฉบับที่ให้ลงลายมือชื่อและวันเดือนปีที่รับทราบคำสั่งคืนมา ก็ให้ถือว่าผู้มีสิทธิร้องทุกข์ได้รับทราบคำสั่งอันเป็นเหตุแห่งการร้องทุกข์แล้ว

      (4) ในกรณีที่เหตุแห่งการร้องทุกข์เกิดจากการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติของผู้บังคับบัญชาโดยไม่มีคำสั่งเป็นหนังสือ ให้ถือวันที่มีหลักฐานยืนยันว่าผู้มีสิทธิร้องทุกข์รับทราบหรือควรรับทราบคำสั่งที่ไม่เป็นหนังสือนั้น เป็นวันทราบเหตุแห่งการร้องทุกข์

      (5) ในกรณีที่เหตุแห่งการร้องทุกข์เกิดจากการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติของผู้บังคับบัญชาโดยไม่มีคำสั่งอย่างใด ให้ถือวันที่ผู้ร้องทุกข์ควรได้ทราบถึงการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติของผู้บังคับบัญชาดังกล่าว เป็นวันทราบเหตุแห่งการร้องทุกข์

2.2 การยื่นหนังสือร้องทุกข์

        ตามนัยข้อ  26 ของระเบียบสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น ว่าด้วยการอุทธรณ์และการร้องทุกข์ พ.ศ. 2552 วางหลักให้การยื่นหรือส่งหนังสือร้องทุกข์ ให้นำหลักเกณฑ์เรื่องการยื่นอุทธรณ์ตามข้อ 10 มาใช้บังคับโดยอนุโลม สรุปได้ว่าผู้ร้องทุกข์จะต้องยื่นหนังสือร้องทุกข์ต่อประธานคณะกรรมการอุทธรณ์ร้องทุกข์และพิทักษ์ระบบคุณธรรม ประจำมหาวิทยาลัย โดยสามารถยื่นได้ 3 วิธี ดังนี้

       1) ยื่นผ่านผู้บังคับบัญชาของตน เมื่อผู้บังคับบัญชาได้รับแล้ว ให้ลงวันเดือนปีที่ได้รับไว้ในหนังสืออุทธรณ์ และให้ถือว่าวันที่ได้รับตามหลักฐานดังกล่าวเป็นวันยื่นอุทธรณ์

       2) ยื่นด้วยตนเอง ที่ฝ่ายเลขานุการ ก.อ.พ.ร. งานวินัยและจรรยาบรรณ  กองทรัพยากรบุคคล สำนักงานอธิการบดี ชั้น 3 อาคารสิริคุณากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้ผู้รับหนังสือออกใบรับหนังสือ ประทับตรารับหนังสือและลงทะเบียนรับหนังสือไว้เป็นหลักฐาน ในวันที่รับตามระเบียบว่าด้วยงานสารบรรณ และให้ถือว่าวันที่ได้รับหนังสือตามหลักฐานดังกล่าวเป็นวันยื่นอุทธรณ์

       3) จัดส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน ให้ถือว่าวันที่ที่ทำการไปรษณีย์ต้นทางออกใบรับฝากเป็นหลักฐานฝากส่ง หรือวันที่ที่ทำการไปรษณีย์ต้นทางประทับตรารับที่ซองเป็นวันยื่นอุทธรณ์

2.3 หนังสือร้องทุกข์

     ตามนัยข้อ  23 ของระเบียบสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น ว่าด้วยการอุทธรณ์และการร้องทุกข์ พ.ศ. 2552 วางหลักให้หนังสือร้องทุกข์ต้องมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้

  • มีการลงลายมือชื่อและตำแหน่งของผู้ร้องทุกข์
  • มีสาระสำคัญที่แสดงข้อเท็จจริงและปัญหาของเรื่องให้เห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือมีความคับข้องใจเนื่องจากการกระทำหรือคำสั่งของผู้บังคับบัญชาอย่างไร
  • ระบุความประสงค์ของการร้องทุกข์

 

 3. การถอนคำร้องทุกข์

ตามนัยข้อ  29 ของระเบียบสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น ว่าด้วยการอุทธรณ์และการร้องทุกข์ พ.ศ. 2552 วางหลักให้ผู้ร้องทุกข์อาจถอนคำร้องทุกข์ที่ยื่นไว้แล้วในเวลาใด ๆ ก่อนที่ผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์มีคำวินิจฉัยเสร็จเด็ดขาดในเรื่องร้องทุกข์นั้น

 

4. การฟ้องคดีต่อศาลปกครอง

หลังจากที่มีการพิจารณาวินิจฉัยร้องทุกข์เสร็จสิ้นแล้ว จะมีการแจ้งผลการพิจารณาวินิจฉัยให้ผู้ร้องทุกข์ทราบ เมื่อผู้ร้องทุกข์ได้รับทราบผลการพิจารณาวินิจฉัยและมีความประสงค์ที่จะโต้แย้ง มีหลักเกณฑ์ ดังนี้

4.1 กรณีที่ผู้ร้องทุกข์เป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา

       ผู้ร้องทุกข์มีสิทธิอุทธรณ์เรื่องร้องทุกข์ ต่อ คณะกรรมการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ (ก.อ.ร.) ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งผลการพิจารณาวินิจฉัย ตามข้อ 7 ของข้อบังคับ ก.อ.ร. ว่าด้วยการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์เรื่องร้องทุกข์และการเสนอเรื่องร้องทุกข์ พ.ศ. 2561 โดยหลักเกณฑ์การอุทธรณ์เรื่องร้องทุกข์ให้เป็นไปตามข้อบังคับ ก.อ.ร. ดังกล่าว

4.2 กรณีที่ผู้ร้องทุกข์มิใช่ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา

      ผู้ร้องทุกข์มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองชั้นต้น โดยทำคำฟ้องเป็นหนังสือและยื่นต่อศาลปกครองชั้นต้นหรือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนไปยังศาลปกครองชั้นต้น ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งหรือทราบผลการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ ตามข้อ 33 ของระเบียบสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น ว่าด้วย การอุทธรณ์และการร้องทุกข์ พ.ศ. 2552 ทั้งนี้ การฟ้องคดีให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง

 

เกร็ดความรู้ : “ร้องทุกข์” แตกต่างจาก “ร้องเรียน” อย่างไร?

การร้องทุกข์และการร้องเรียนเป็นเรื่องที่แตกต่างกัน โดย “การร้องทุกข์” เป็นเรื่องของบุคลากรที่มีความคับข้องใจอันเกิดจากการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติของผู้บังคับบัญชาต่อตนเอง และเป็นเรื่องที่ไม่อาจอุทธรณ์ได้ แต่ “การร้องเรียน” เป็นการกล่าวหาหรือกล่าวโทษผู้บังคับบัญชาหรือผู้หนึ่งผู้ใดว่ามีพฤติการณ์กระทำผิดวินัยหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งการกระทำดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบต่อสิทธิหรือหน้าที่ของบุคลากรหรือไม่ก็ได้ การร้องเรียนจึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาของ ก.อ.พ.ร.  อย่างไรก็ตาม การที่ ก.อ.พ.ร. จะรับเรื่องร้องทุกข์ดังกล่าวไว้พิจารณาหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับเนื้อหาของคำร้องด้วยว่าบุคลากรผู้นั้นมีความคับข้องใจที่เกิดจากการที่ผู้บังคับบัญชาปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติต่อตน และเป็นกรณีที่ไม่อาจอุทธรณ์ได้หรือไม่ ซึ่งหากพิจารณาจากเนื้อหาแล้วแม้ทำหนังสือร้องเรียนมาแต่ในเนื้อหาเป็นกรณีที่เข้าหลักเกณฑ์เรื่องการร้องทุกข์ ก.อ.พ.ร. ก็จะรับเรื่องนั้นไว้พิจารณา แต่ถ้าบางกรณีที่ผู้ร้องทำหนังสือร้องทุกข์กล่าวอ้างความคับข้องใจต่าง ๆ มา แต่เมื่อพิจารณาในเนื้อหาแล้ว ปรากฏว่าไม่เข้าตามหลักเกณฑ์การร้องทุกข์ ก.อ.พ.ร. ก็จะไม่รับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณา

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : ฝ่ายเลขานุการ ก.อ.พ.ร. งานวินัยและจรรยาบรรณ กองทรัพยากรบุคคล ชั้น 3 อาคารสิริคุณากร สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตำบลในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น  โทรศัพท์ 0 4300 9700 ต่อ 48696  โทรสาร 0 4320 2358